ศุกร์ที่แล้วเล่าเรื่องการทานโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวที่อุดมด้วยแบคทีเรียมีชีวิตนั้นดีต่อสุขภาพกันไปแล้วนะคะ หลังจากนั้นก็มีผู้อ่านหลายท่านยังสงสัยและอยากรู้เรื่องราวของแบคทีเรียมีประโยชน์นี้ให้มากขึ้น ผู้เขียนขอเล่าต่อเลยนะคะว่า ยุคนี้มีการกล่าวถึงคำว่า "โปรไบโอติกส์" หรือแบคทีเรียมีประโยชน์กันมา โดยนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มักนำโปรไบโอติกส์มาเป็นจุดเด่นในการนำเสนอ อีกทั้งวงการสุขภาพก็พูดถึงอย่างแพร่หลาย ขณะที่วงการแพทย์ชี้ว่าอาจกลายเป็นยาปฏิชีวนะในศตวรรษที่ 21
สำหรับโปรไบโอติกส์ คือ แบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในอาหาร แต่ไม่ก่อให้เกิดโรค เมื่อทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์เข้าไปแล้ว แบคทีเรียพวกนี้ทนกรดทนด่างในกระเพาะและลำไส้เล็กได้ จึงสามารถผ่านไปสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรแบคทีเรียในนั้น สร้างประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหาร การดูดซึม การขับถ่าย ทั้งยังช่วยปรับสมดุลปริมาณแบคทีเรียในร่างกาย
โปรไบโอติกส์ สามารถผลิตกรดแลคติก ที่เรียกว่า แลคติกแอซิด โดยมีหลายชนิด ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส อะซิโดฟิลลัส, เอนเทอโรคอคคัส, สเตรปโตคอคคัส เทอร์โมฟิลัส, ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดัม แบคทีเรียที่ดีเหล่านี้ อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เราเป็นทารก จะทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและผลิตสารอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกรดอะมิโน พลังงาน วิตามินเค วิตามินบี และสารปฏิชีวนะธรรมชาติหลายชนิด
การเติมโปรไบโอติกส์ให้ร่างกายจึงมีประโยชน์ ดังนี้...
- กรดแลคติกที่แบคทีเรียผลิตออกมา ช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค
- ระบบขับถ่ายดี ไม่เกิดการหมักหมมของเสีย ลดอัตราเสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้และตับ
- ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และกำจัดสารก่อมะเร็งบางชนิด
- ช่วยลดระดับน้ำตาลและคลอเรสเตอรอลในเลือด
- ผลิตเอนไซม์แลคเตส ซึ่งช่วยย่อยน้ำตาลในนม ทำให้ไม่มีอาการท้องอืดหรือท้องเสียจากการดื่มนม และช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมดีขึ้น
- วิตามินบีที่ได้ ทำให้เซลล์ในระบบภูมิต้านทานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้มีการผลิตเม็ดเลือดแดงได้ดี
เมื่อรู้จักโปรไบโอติกส์ อยากแนะนำให้รู้จักพรีไบโอติกส์กันด้วย เพราะมีความเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกันค่ะ
โดย "พรีไบโอติกส์" คือ สารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถจะย่อยได้ เมื่อผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่จะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ ให้เพิ่มจำนวนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น สารกลุ่มนี้ได้แก่ อินูลิน (พบในส่วนของหัวหรือรากสะสมอาหาร เช่น กระเทียมต้น หอม กระเทียม กะหล่ำปลี) และ โอลิโกฟรุคโตส (มีอยู่ในพืช เช่น หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง และกล้วย) เหล่านี้จำเป็นต้องมีเพื่อรักษาสมดุลแบคทีเรียตัวดีและตัวร้าย
สรุปแล้วโปรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ รวมถึงใยอาหาร หากร่างกายได้รับอย่างเหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร , ช่วยลดสารพิษหลายชนิด, ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น, ช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ซึ่งแก้ปัญหาแน่นท้องหรือท้องเสียได้, ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหาร โดยเฉพาะแคลเซียมและเหล็กได้ดี
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากจะรีบหาอาหารที่มีโปรไบโอติกส์มาทานกันแล้วใช่ไหมคะ ไม่ใช่เพียงแค่นมเปรี้ยวและโยเกิร์ตเท่านั้นที่มี อาหารที่ผ่านการหมักดองบางประเภทแล้วยังคงมีจุลินทรีย์มีชีวิตอยู่ เช่น นัตโตะ(ถั่วเหลืองหมักของญี่ปุ่น), กิมจิ(ผักดองของเกาหลี), เทมเป้(ถั่วหมักของอินโดนิซีย) ก็มีโปรไบโอติกส์ปะปนอยู่ รวมถึงผักผลไม้ดองของไทยเราก็เช่นกันนะคะ แต่จะเลือกเสริมโปรไบโอติกส์ให้ร่างกายด้วยอาหารชนิดไหน ระวังเรื่องความสะอาด และถูกสุขลักษณะกันด้วยนะคะ
อย่าลืมนะคะว่า You are what you eat เลือกทานอะไรดีๆ จะได้มีร่างกายที่แข็งแรงกันนะคะ.
"PrincessFangy"
twitter.com/PrincessFangy
อ้างอิงบางส่วนจาก www.myprimelife.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น