ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตด้วย “โรคเมลิออยด์” ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน โดยเฉพาะในภาคอีสาน แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้จัก ไม่คุ้นชื่อโรคนี้ ทำให้ขาดความรู้ในการดูแลและป้องกันตัวเอง
นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า โรคเมลิออยด์เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอยู่ในดินในน้ำบ้านเราเยอะที่สุดในโลก โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยตายเป็นใบไม้ร่วงทุกปีในช่วงฤดูฝน พบมากในภาคอีสาน เชื้อแบคทีเรียนี้ก็อยู่ในดินของมัน เวลาคนไปสัมผัสดิน สัมผัสน้ำ หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไปทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นการติดโรคจากธรรมชาติ แต่โรคนี้ไม่ได้แพร่จากคนสู่คน
ที่น่ากลัวคือบ้านเราเกษตรกรทำนาด้วยเท้าเปล่ามือเปล่า ชาวนาจึงมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางผิวหนังได้โดยตรง ไม่ต้องมีแผลอะไร ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เข้าปอด สมอง เกิดภาวะติดเชื้อและเสียชีวิต ขณะเดียวกันเรื่องน้ำดื่มก็น่าห่วงเพราะจากการลงไปสัมผัสชีวิตชาวบ้าน พบว่า 50% ดื่มน้ำฝน 25% ดื่มน้ำบ่อ น้ำบาดาล 10% ดื่มน้ำประปาหมู่บ้าน ส่วนอีก 10% มีฐานะพอจะซื้อน้ำดื่มได้ โดยน้ำที่ชาวบ้านดื่มนั้นผลการตรวจพบว่า มีเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่ประมาณ 10% ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่แล้ว อย่างน้ำประปาหมู่บ้านหลายแห่งจะตรวจเฉพาะเชื้ออี.โคไล เป็นหลักไม่ได้ดูเชื้อนี้ พอชาวบ้านดื่มน้ำโดยไม่ต้ม ไม่ได้กรองอาจทำให้ได้รับเชื้อ ดังนั้นจึงอยากกระตุ้นให้ชาวบ้านต้มน้ำให้สะอาดก่อนดื่มทุกครั้งไม่ว่าน้ำบ่อ น้ำบาดาล หรือน้ำประปาหมู่บ้าน
ประมาณ 75% ของคนไข้มาโรงพยาบาลช่วงหน้าฝน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงหว่านดำทำนา มิ.ย. ก.ค. อีกช่วงคือประมาณ ต.ค. พ.ย. เกี่ยวข้าว
ปัจจัยหลัก คือ คนไข้ออกไปทำไร่ไถนา
อาการที่ปรากฏ คือ มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้อาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ ปวดท้อง ช็อก
ซึ่งจะทำให้คนไข้เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วภายใน 2 วัน
ถามว่าการวินิจฉัยยากหรือไม่ ตอบว่ายากเพราะอาการไม่จำเพาะ คือ ไข้สูง โลหิตเป็นพิษ มันเป็นเชื้ออะไรก็ได้ หมอจึงมักพูดว่าโลหิตเป็นพิษติดเชื้อ ถามว่า ณ วันนี้หมอรู้จักโรคนี้หรือไม่ หมอรู้จักดี ห้องปฏิบัติการรู้จักดี แต่คนไข้เท่านั้นที่ยังไม่รู้
พอคนไข้เสียชีวิตส่วนใหญ่หมอจะบอกว่าติดเชื้อในกระแสเลือด โลหิตเป็นพิษ หรือบางทีก็บอกว่าเป็นไข้โดยไม่ทราบสาเหตุแล้วเสียชีวิต เนื่องจากการวินิจฉัยยาก ต้องใช้เวลากว่าจะยืนยันผลได้ว่าเป็นโรคนี้อาจต้องใช้เวลานานถึง 7 วัน อีกทั้งไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์โรคนี้ประชาชนจึงไม่ค่อยรู้
วิธีการรักษาหากสงสัยติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทันที
ระหว่างรอผลจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จะไม่รอผลเลือด
ถ้าผลแล็บออกมาว่าเป็นเชื้อเมลิออยด์
แล้วคนไข้ยังมีชีวิตอยู่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อจนครบ 14 วันเป็นอย่างน้อย
พออาการดีขึ้นแล้วก็ต้องให้ยารับประทานต่อเนื่องอีก 5 เดือน
เพื่อฆ่าเชื้อในร่างกายออกให้หมด ถ้าฆ่าเชื้อไม่หมด
คนไข้อาจเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำและทำให้เสียชีวิตได้
ต้องบอกว่าเชื้อตัวนี้ทนเหมือนวัณโรค แต่ดุกว่า
โอกาสป่วยตายกี่เปอร์เซ็นต์? นพ. ดิเรก กล่าวว่า
อัตราการตายในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์
เฉพาะภาคอีสานอัตราการตายสูงที่สุด
ทั้งนี้ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่มีผลแล็บยืนยัน 2,000 ราย
คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยน่าจะมากกว่านี้ เพราะจำนวนผู้ป่วย 2,000
คนเป็นตัวเลขที่เพาะเชื้อขึ้น แต่มีส่วนหนึ่งที่เพาะเชื้อไม่ขึ้น
ปัจจุบันมีการวิจัยวัคซีนโรคนี้หรือไม่? นพ.ดิเรก กล่าวว่า
เชื้อตัวนี้รุนแรงขนาดอเมริกาจัดเป็นอาวุธชีวภาพ
เป็นหนึ่งในเชื้อแบคทีเรียที่นำไปทำอาวุธชีวภาพได้
อเมริกามีงบประมาณสำหรับทำวัคซีนเยอะมาก และพยายามพัฒนาวัคซีนตัวนี้อยู่
แต่ยังไปได้ไม่ไกลนัก ในประเทศไทยไม่มีงบประมาณวิจัยทำวัคซีนตัวนี้
ถ้าจะยืมจมูกประเทศอื่นหายใจก็คงไม่ได้ใช้
เพราะอเมริกาพัฒนาไปในทางป้องกันอาวุธชีวภาพให้ทหารของเขาได้ใช้
ไม่เหมือนกับวัคซีนที่เราอยากให้คนไทยได้ใช้ป้องกันชีวิตจริง ๆ
ดังนั้นประเทศไทยควรสนใจตรงนี้ด้วย มิฉะนั้นก็มุ่งไปที่การรักษาอย่างเดียว
ไม่มีวัคซีนใช้
ท้ายนี้อยากบอกว่าโรคเมลิออยด์เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้
ในกรณีที่ต้องสัมผัสดินหรือน้ำ เช่น ทำนา ทำสวน จับปลา
ควรใส่เครื่องป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง
และควรทานอาหารที่สุกสะอาด ดื่มน้ำต้มสุก.
นวพรรษ บุญชาญ รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น