ทั่วโลกกำลังจับตา กรณีพบประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจาก ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช7เอ็น9 (H7N9) ในประเทศจีน
ทั่วโลกกำลังจับตา กรณีพบประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจาก ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช7เอ็น9 (H7N9) ในประเทศจีน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่เคยพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ดังกล่าว แต่ก็ประมาทไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงได้เตรียมพร้อมรับมือ ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย กรมปศุสัตว์ และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข เพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ซึ่งในวันที่ 18 เม.ย.นี้จะมีการประชุมติดตามเรื่องนี้ โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นประธาน
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 ที่พบในประเทศจีน เริ่มมีรายงานเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 19 ก.พ.-3 เม.ย. 2556
ต่อมาวันที่ 31 มี.ค. 2556 ทางการสาธารณสุขจีนได้ประกาศให้ทราบว่า ชันสูตรยืนยันได้ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เรียกชื่อเป็นทางการว่า โนเวล อินฟลูเอนซา เอ (เอช7เอ็น9) ไวรัส หรือ novel influenza A (H7N9) virus คำว่า โนเวล (novel) แปลว่า “ใหม่” ได้จากผู้ป่วยที่เจ็บหนักขั้นวิกฤติ 3 ราย
ตัวเลข ณ วันที่ 10 เม.ย. 2556 มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าว 33 ราย อยู่ในมณฑลเซี่ยงไฮ้ 15 ราย เจียงสู 10 ราย เจ้อเจียง 6 ราย และ อันฮุย 2 ราย ในจำนวนผู้ป่วย 33 ราย เสียชีวิตแล้ว 9 ราย ทุกรายไม่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากัน
ทั้งนี้มีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ได้รับการชันสูตรยืนยันแล้วว่าติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช7เอ็น 9 ประมาณ 700 คน กำลังอยู่ในระหว่างการติดตามตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่
สำหรับการเกิดโรคเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็น “คลัสเตอร์” นั้น มีรายงานว่าในครอบครัวหนึ่ง ที่อาจถือได้ว่าเป็นคลัสเตอร์เล็ก ๆ เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายแรก แต่ก็เป็นรายงานที่ไม่มีการชันสูตรยืนยันที่ชัดเจน
ในเจียงสู กำลังมีการสอบค้นผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย แหล่งแพร่โรคที่ผู้ป่วยไปติดเชื้อมา และวิธีการที่ไปรับเชื้อมา กำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์สอบค้นเช่นกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอช7เอ็น9 ที่มีการชันสูตรยืนยันอย่างแน่ชัด
ไวรัสนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ด้านอณูวิทยาของจีน ได้ทำการวิเคราะห์แล้วทราบว่า ไวรัสเกิดจากการผสมทางพันธุกรรมที่เรียกกันว่า รีคอมบิเนชั่น (recombination) ของไวรัสเอช 9 เข้ากับไวรัสเอ็น 7 ของเป็ดไก่ตามบ้านของจีน จึงมีการกลายพันธุ์ ได้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่คือ เอช7เอ็น 9
ไวรัสสายพันธุ์นี้ ทำให้สัตว์ปีกติดเชื้อได้ง่าย แต่สัตว์ไม่ล้มเจ็บ และไม่ตาย ผิดกับไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) เมื่อไก่ติดเชื้อ จะล้มเจ็บและตายเรียบ การติดเชื้อสายพันธุ์ เอช7เอ็น9 จึงไม่มีข้อสังเกตว่า สัตว์ตัวใดจะติดเชื้อแล้ว หรือยังไม่ติดเชื้อ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ในมนุษย์มีอาการุนแรง ทำท่าว่าจะรุนแรงกว่าเอช5เอ็น1 ทั้งนี้ประเมินจากผู้ป่วยที่มีอยู่ไม่มาก แต่เสียชีวิตถึง 9 ราย ที่ยังมีชีวิตรอดอยู่ต่างมีอาการหนักทั้งสิ้น
จากการสำรวจสุกร ยังไม่พบว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ปกติ สุกรจะไวต่อการติดเชื้อไข้หวัดนกและเป็นเหมือนถังผสมที่จะก่อให้เกิดกระบวนการรีคอมบิเนชั่น กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ง่าย ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มีการตรวจพบในไก่เป็น ๆ ในตลาดสดนครเซี่ยงไฮ้ ทางการจึงสั่งปิดตลาดสดและทำลายไก่ไปกว่า 3 แสนตัว นอกจากนั้น ยังตรวจพบเชื้อไวรัสได้ ในมูลนกพิราบ นกกระทา
ในแง่การรักษา ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่เอช7เอ็น9 ยังไวต่อยาต้านโอเซลทามิเวียร์ และซานามิเวียร์ จึงน่าที่จะนำไปใช้รักษาได้เหมือนไข้หวัดนกเอช5เอ็น1 โดยในขณะนี้กำลังวิเคราะห์ประเมินผลการรักษาอยู่
ความเสี่ยงของประชาชนทั่วไป คือ
ในขณะนี้พอจะทราบว่าไวรัสมีอยู่ในสัตว์ชนิดใด แต่ แหล่งรังโรคที่แพร่เชื้อมาสู่มนุษย์ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน และผู้ป่วยไปติดเชื้อมาได้โดยวิธีใด หรืออย่างไรนั้น ยังไม่ชัดเจน ความเสี่ยงในประเด็นนี้ ยังไม่มีคำอธิบาย
คำถามที่ว่า โรคนี้จะเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ คงตอบได้ยาก เท่าที่ประเมินดู ยังมีความเสี่ยงน้อย แต่เข้าสู่ฤดูร้อน มีการเคลื่อนย้ายของนกป่ามาจากทางเหนือของทวีป จึงทำให้ทำนายได้ยากยิ่งขึ้น
ทั้งทางด้านสาธารณสุข ด้านสัตวสาธารณสุข (สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง) ต้องร่วมมือกันเฝ้าระวังอย่างเต็มที่และเข้มงวด ไม่ใช่เฝ้าระวังเฉพาะไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช7เอ็น9 เท่านั้น แต่ต้องไม่ละเลยในการเฝ้าระวังสายพันธุ์เดิมคือ เอช5เอ็น1 ด้วย เพราะยังมีการระบาดของสายพันธุ์นี้อยู่ทั้งในสัตว์และในมนุษย์ที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย และเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเฝ้าระวัง ด้านการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ ให้คำแนะนำวางแนวทางการรักษาพยาบาล เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อม การให้ความรู้และคำแนะนำทางวิชาการที่ถูกต้องแก่ประชาชนโดยทั่วไปเพื่อให้ระวังป้องกันตัวเองโดยไม่ให้ตื่นตระหนก
มาตรการอนามัยส่วนบุคคล เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ยังต้องนำมาปฏิบัติอีก โดยเฉพาะการล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ล้างด้วยแอลกอฮอล์เจล ต้องเน้นให้ปฏิบัติเป็นกิจวัตร ไม่ไปสัมผัสสัตว์ปีกโดยไม่มีความจำเป็น โดยเฉพาะสัตว์ที่กำลังล้มป่วยหรือตาย การชำแหละสัตว์ที่กำลังล้มเจ็บ เพื่อนำไปประกอบอาหารต้องละเว้นอย่างเด็ดขาด ซากสัตว์ให้ฝังดินให้ลึกอย่างน้อยครึ่งเมตรและกลบด้วยปูนขาวก่อนจึงกลบด้วยดิน
องค์การอนามัยโลก ยังไม่จำกัดการเดินทางเข้าออกจากประเทศจีน ไม่ห้ามการทำมาค้าขายกับจีน และยังไม่แนะนำให้ตั้งจุดตรวจผ่านแดนแต่อย่างใด.